“หัวหน้ารีไวล์คนเดียว เท่ากับทหารหนึ่งพันนาย”
รีไวล์ แอคเคอร์แมน เป็นประโยคแรกๆ ที่ได้ยินเกี่ยวกับตัวละครนามว่า ‘รีไวล์ แอคเคอร์แมน (Levi Ackerman)’ ที่ทำให้เราสนใจทันที พร้อมกับจดจ้องไปที่ตัวละครนี้ว่านายหน้านิ่ง ตัวเล็ก ผมดำแสกกลาง และดูไม่น่าเข้าใกล้คนนี้คือใคร มีดีอะไร รอคอยอยากเห็นตัวละครรีไวล์ได้มีซีนบู๊เพราะอยากเห็นว่าจะเก่งและทรงพลังซักแค่ไหน เชื่อหรือไม่ว่าพูดถึงตัวละครใน Attack on Titan แล้ว สถิติเกี่ยวกับการโหวต most favorite characters ของมังงะและอนิเมะเรื่องนี้ไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่คราตัวละครที่มักจะอยู่อันดับ 1 บ่อยที่สุดคือรีไวล์ ทั้งที่ตัวละครนี้ไม่ใช่พระเอก แต่มักจะมีซีนเท่ๆ มาให้เราได้ว้าว บุคลิกที่มีเสน่ห์แปลกๆ และแย่งจุดสนใจมาจากพระเอกของเราอย่าง ‘เอเรน เยเกอร์ (Eren Yeger)’ ได้เสมอ ใครก็ตามที่เห็นด้วยกับสถิติดังกล่าวกับมีรีไวล์เป็นตัวละครโปรด ไม่จำเป็นต้องได้รับการบอกว่า “คุณไม่ใช่คนเดียว” หรือถูกถามว่า “อ้าว ชอบรีไวล์เหมือนกันหรอ?” แล้วตามด้วยสีหน้าประหลาดใจ เพราะด้วยสถิติ กระแสการพูดถึง การมีส่วนร่วมโพสต์ในโซเชียลมีเดีย และแง่มุมที่คนมีต่อตัวละครรีไวล์พอทำให้อนุมานเป็นประโยคสั้นๆ ได้แล้วว่า “Everybody loves Levi Ackerman” วันนี้เลยจะมาพูดถึงในเชิงวิเคราะห์ว่าตัวละครนี้มีดีอะไรให้คนทั่วโลกรัก กับจุดเด่นลักษณ์เฉพาะตัว และทำไมเขาถึงเป็นตัวละครที่โดดเด่นได้เพียงนี้ บทความนี้จะเป็นไกด์บุ๊คฉบับสมบูรณ์สำหรับคนที่ชื่นชอบไปจนถึงรักตัวละครีไวล์ แอคเคอร์แมน
ก่อนที่จะลงลึกไปถึงนิสัย แรงจูงใจ อดีต และอุดมการณ์ของตัวละครนี้ ต้องขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับรีไวล์ก่อน รีไวล์ แอคเคอร์แมน เกิดวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งเห็นหน้าตาแบบนี้จริงๆ รีไวล์อายุ 30 ต้นๆ ถึงกลางๆ แล้วนะ รีไวล์เป็นคนรักสะอาด เจ้าระเบียบพอสมควร เอกลักษณ์ความเป็นรีไวล์นอกจากทรงผม ส่วนสูง ใบหน้าที่เรียบเฉย คือ ผ้าพันคอสีขาว ที่แสดงถึงความเนี้ยบของตัวละครนี้ได้เป็นอย่างดี และยังมีข้อควรรู้อีกอย่างคือคนไทยนิยมเรียกรีไวล์ว่า ‘สำอร’ เนื่องมาจากการค้นพบว่า เมื่อตั้งใจพิมพ์คำว่า ‘Levi’ ภาษาอังกฤษแต่ไม่ได้เปลี่ยนภาษาจะกลายเป็นคำนี้ ส่วนต้นตอนั้นใครเป็นคนเรียกคนแรกไม่อาจทราบได้
ตอนเปิดตัวละครรีไวล์เชื่อว่าทุกคนต้องนึกเหมือนกัน ว่ารีไวล์ต้องเป็นตัวละครเก๊กๆ บุคลิกแบบเจ้าชายเย็นชาที่ทำไม่สนใจผู้อื่น แล้วโชว์มุมหล่อเท่ แต่นี่คือ Attack on Titan ที่มีจุดเด่นด้านการสร้างมิติให้กับตัวละครแน่นไม่ต่างจากคนจริงๆ และมีที่มาที่ไป ส่งผลกับเรื่องราวก่อนหน้าหล่อหลอมนิสัยชัดเจนเสมอ รีไวล์จึงมีเหลี่ยมมุมมากกว่านั้น เขาอาจดูหน้านิ่งเพราะชีวิตวัยเด็กกับอดีตไม่ได้สวยหรูนัก ที่ลึกๆ แล้วเป็นคนที่มีมุมอ่อนโยน ยิ้มให้เห็นหรือแสดงอารมณ์ให้เห็นบ้าง และแค่เป็นอินโทรเวิร์ตเท่านั้นเอง การจับใบมีดที่ไม่เหมือนชาวบ้านจนทำให้เขาหมุนไปในทางเดียวกันเร็วๆ จนฟันได้สองรอบต่อการหมุนหนึ่งครั้งและฟันได้หลายรอบเมื่อหมุนเหมือนลูกข่างก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวละครรีไวล์ที่ไม่มีใครในเรื่องเหมือนเช่นกัน
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวละครรีไวล์คือ อ.ฮาจิเมะ อิซายามะ (Hajime Isayama) ผู้เขียน Attack on Titan เล่าว่าด้วยความที่สกิลและค่าพลังการต่อสู้ของรีไวล์สูงแบบเกินไป เขาจึงไม่รู้จะทำยังไงกับตัวละครนี้ดี ทำให้หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าตลอดเรื่อง อาจารย์มักจะเนิร์ฟหรือทำอะไรซักอย่างกับตัวละครรีไวล์เพื่อให้ลดบทบาทและความสามารถลง ไม่ว่าจะเป็นให้ออกไปทำภารกิจมั่งล่ะ อยู่ที่อื่นมั่งล่ะ บาดเจ็บมั่งล่ะ เพื่อที่จะดำเนินเรื่องได้ง่ายขึ้นเพราะเขากลัวจะจบไวหรือศัตรูพ่ายแพ้ง่ายไป
ส่วนมุมมองในสนามรบนั้น แม้รีไวล์จะมีฝีมือเก่งฉกาจเพียงใดและดูจะเหมือนเครื่องจักรสังหารที่ฆ่าได้จำนวนมาก ไม่มีความลังเล รวดเร็ว เฉียบขาด หมุนเป็นลูกข่าง (จนกลายเป็นมีม) เขาก็ไม่ได้เอ็นจอยกับการคร่าชีวิตใครเท่าไหร่นัก เพราะคนและไททันคือสิ่งมีชีวิต ทุกชีวิตสำคัญและมีชื่อ อาจารย์ยังเคยบอกอะไรที่ดูตรงข้ามกับบุคลิกรีไวล์ด้วยว่าแม้จะเป็นตัวละครที่พอพูดถึงทีไรเราจะนึกถึงการต่อสู้ โทนเสียงคงระดับ และวาจาอันจิกกัดเล็กน้อยถึงปานกลาง รีไวล์ชอบทำงานบ้านกับชอบชามาก และเขามีความฝันที่จะเปิดร้านชาในวันหนึ่ง
ทั้งนี้ แม้ อ.อิซายามะจะเริ่มต้นด้วยการวาดรีไวล์แบบคร่าวๆ หยาบๆ โดยมีความคิดพื้นฐานแค่ว่าให้เป็นตัวละครนิ่งๆเย็นชาๆ โดยยังไม่ได้ใส่พื้นหลังอะไรไปให้ตัวละครมากนัก เขารู้ในใจเสมอว่าตัวละครนี้จะต้องมีอะไรดี ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ช่วงนั้นหนังซูเปอร์ฮีโร่ในดวงใจของหลายๆ คนที่ขึ้นชื่อเรื่องความสีเทาและการกระทำที่ยากจะตัดสินของตัวละครอย่าง Watchmen (2009) ของผู้กำกับ แซ็ค สไนเดอร์ (Zack Snyder) เข้าฉายพอดี แล้วอาจารย์ได้ไปดูเข้า นอกจากหนังเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อเนื้อเรื่องแล้ว บางตัวละครในหนังยังเป็นต้นแบบให้กับตัวละครในมังงะเขาอีกด้วย สองในนั้นคือ โอซีแมนเดียส (Ozymandias) ที่เป็นแบบตัวละคร เออร์วิน สมิธ (Erwin Smith) และ รอร์ชาร์ต (Rorschach) ที่เป็นต้นแบบของรีไวล์
สำหรับคนที่ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ นอกจากอยากบอกให้ไปดูแล้ว จะขออธิบายด้วยว่าตัวละครรอร์ชาร์ตเป็นตัวละครที่ค่อนข้างจะสุดโต่ง เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ หรือหากเขามีความตั้งใจมุ่งมั่นจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสร้างเป้าหมายไว้แล้ว เขาจะไม่โอนอ่อน ไม่เอนเอียง ไม่ประนีประนอม แม้จะต้องเผชิญกับอันตรายถึงชีวิตหรือวันโลกาวินาศ พูดง่ายๆคือต่อให้โลกแตกและใครจะว่ายังไง อะไรก็มาหยุดเขาไม่ให้ทำในสิ่งที่เขามองว่าถูกต้องไม่ได้ ฟังดูคุ้นๆใช่มั้ย? ใช่แล้ว รีไวล์ได้รับนิสัยตัวละครนี้มาเต็มๆ
หน้ากระดาษในช่วงต้นของหนังสือที่เรียกว่า ‘อดีต’ รีไวล์ แอคเคอร์แมน
รีไวล์ แอคเคอร์แมน ทุกคนมีอดีต แม้จะปฏิเสธมันแค่ไหนมันก็เป็นส่วนหนึ่งในหน้ากระดาษของหนังสือที่มีชื่อบุคคลนั้นแปะอยู่ข้างหน้า และอดีตของรีไวล์ไม่ได้เรียบหรู ไม่ได้สวยงาม แต่เหมือนคำพูดที่ว่า “หนังที่ดีไม่จำเป็นต้องสนุก หนังที่สนุกไม่จำเป็นต้องดี” นั่นแหละ เช่นเดียวกัน เรื่องราวของรีไวล์ไม่จำเป็นต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบถึงจะเป็นเรื่องราวที่ดีได้ แต่มันดีและน่าไปค้นสำรวจเพราะเรื่องราวเหล่านั้นทำให้รีไวล์เป็นรีไวล์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้
รีไวล์เกิดที่นครใต้ดินภายในเขตกำแพง เขาเป็นลูกของโสเภณี คูเชล (Kuchel) ที่ไม่อาจทราบได้ว่าใครคือพ่อ ต่อมาหลังจากที่รีไวล์เกิดได้ไม่นานคูเชลก็ป่วยเป็นโรคและจากโลกนี้ไป ทิ้งให้เด็กชายรีไวล์ตัวผอมซูบ นั่งคุดคู้กอดเข่าอยู่ข้างเตียง ไม่รู้จะไปไหน ต่อมาจะเรียกว่าโชคดีก็ได้ที่เคนนี่ (Kenny) พี่ชายของแม่เขาหรือลุงมาหาน้องสาวและพบกับรีไวล์เข้า เขาจึงถูกนำไปชุบเลี้ยง
ด้วยความที่รีไวล์ไม่รู้ว่าใครคือพ่อของเขา เขาจึงทิ้งนามสกุลไปและมองว่าไม่สำคัญอีกต่อไป สำคัญแค่ว่าเขาคือรีไวล์ หรืออันที่จริงเขาไม่ได้สนด้วยซ้ำว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อ จะอยู่หรือตาย เพราะมันมีค่าเท่ากัน เขาแค่พูดชื่อรีไวล์ออกไปเพราะชายแปลกหน้าที่ชื่อเคนนี่ถาม ในขณะเดียวกันเคนนี่ก็ไม่ได้บอกรีไวล์ว่าเป็นลุงเนื่องจากคิดว่าแอคเคอร์แมนตระกูลที่ถูกตามล่าจนไม่เหลือจะมีประโยชน์หรือความภาคภูมิใจอะไรที่จะป่าวประกาศ
รีไวล์เป็นคนของตระกูลแอคเคอร์แมนจากฝั่งแม่ ทำให้รีไวล์มีพลังความสามารถของแอคเคอร์แมนอยู่ครบ ทั้งสัญชาติญาณนักฆ่า เครื่องจักรสังหาร ไหวพริบ การต่อสู้ การทนทายาด และการตัดสินใจที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ อย่างเฉียบแหลมลงมือทันที แต่ก่อนจะมาเป็นอย่างที่เราเห็น ด้วยความที่เคนนี่รู้จักแต่การฆ่าฟันเอาตัวรอดเนื่องมาจากตระกูลแอคเคอร์แมนนั้นต้องหลบหนีการล่าสังหารล้างโคตรจากราชวงศ์และทหารขุนนางเนื่องจากสามารถในการต่อต้านการลบความทรงจำได้ เคนนี่จึงได้สอนรีไวล์อยู่ไม่กี่สิ่งที่ขพอจะสอนได้ นั่นก็คือ ‘การเอาตัวรอด’ ไม่สู้ก็ตาย ไม่สู้กลับก็จะพ่ายแพ้อยู่อย่างนั้น ซึ่งมองดูดีๆ มันก็คือปรัชญาเดียวกันกับการมีชีวิตอยู่เหมือนที่เราทุกคนใช้ชีวิตทุกวันนี้ เพียงแต่ไม่ได้หยิบจับมีดและโตมากับเลือดเหมือนรีไวล์เท่านั้นเอง
เคนนี่ทิ้งรีไวล์ให้ใช้ชีวิตคนเดียวเพราะเขาคิดว่าเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นพ่อคนหรือดูแลใคร ทำให้รีไวล์เป็นวัยรุ่นเอลเดียที่ต้องโตมากับการปากกัดตีนถีบ สร้างชื่อ และเติบโตมาด้วยตัวเอง เรียนรู้อะไรๆ ด้วยตัวเอง ทำให้สำหรับรีไวล์ นอกจากความสามารถจากสายเลือดแล้วเขาไม่จำเป็นต้องใช้นามสกุลเพื่อมาบอกความหมายหรือนิยามความเป็นตัวเอง เพราะความหมายนั้นคือสิ่งที่เขาทำและสิ่งที่เขาสู้เพื่อมันบ่งบอกตรงนั้นได้ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว และเมื่อไม่มีคนมาอบรมสั่งสอนเลี้ยงดู หนังสือแห่งชีวิตของ รีไวล์ แอคเคอร์แมน จึงเป็นหนังสือประเภทจดไปอ่านทบทวนไปตลอดเวลา ส่วนการโตมาภายใต้โลกใต้ดินที่ไม่เป็นแสงเห็นตะวันทำให้เขาขาดวิตามิน D บวกกับสารอาหารที่ไม่ได้รับเข้าร่างกายอย่างครบถ้วนตามหลักโภชนาการและเพียงพอตามวัยกำลังโตซักเท่าไหร่ จึงส่งผลให้รีไวล์มีส่วนสูงเพียง 160 เซนติเมตร แต่นั่นก็เป็นเอกลักษณ์ของรีไวล์ไปแล้ว มีหลายฉากที่มีการยืนเทียบกันจะเห็นได้ว่าสำอรคนนี้จะตัวจิ๋วกว่าเพื่อน มีฉากหนึ่งเป็นฉากที่จำได้ดีคือฉากที่รีไวล์แซวเด็กๆ หน่วยฝึก 104 ว่า “เฮ้ย นี่พวกแกจะโตกันเร็วไปไหนเนี่ย”
ใน OVA ของ Attack on Titan หรือเรื่องราวเสริมที่ใช้ชื่อว่า ‘No Regrets’ ที่แปลว่า ‘อย่าได้เสียใจ’ เป็นเรื่องราวที่จะเติมเต็มอดีตและอุดช่องว่างของความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับตัวละครนี้ได้เป็นอย่างดี นี่เป็นเรื่องราวที่เล่าว่ารีไวล์โตมายังไง เราจะได้รู้ว่าเขาโตมากับเพื่อนที่ชื่อว่า อิซาเบล แม็คโนเลีย (Isabel Magnolia) กับเฟอร์ลาน เชิร์ช (Furlan Church) และรีไวล์ของเราเป็นหัวหน้าแก๊งโรบินฮู้ดที่ปล้นคนรวยช่วยเหลือคนจน ทั้งยังขโมยเครื่องเคลื่อนที่สามมิติมาใช้ด้วย ซึ่งรีไวล์สามารถทรงตัวและใช้มันได้อย่างคล่องแคล่วแม้ว่าจะไม่เคยได้รับการฝึกอย่างถูกต้องเหมาะสมก็ตาม
รีไวล์เข้าใจดีว่าการเกิดเป็นคนข้างล่างจะต้องมีจุดจบคือตายข้างล่างเหมือนเกิด ใช้ชีวิต และตายในสถานที่ครบวงจรไม่ต่างไปจากโลงอาศัยในศพ ไม่ได้รับอาหารการกินที่ดี ไม่ได้เจอแสงแดด โลกภายนอก ท้องฟ้า และไม่ได้มีคุณภาพชีวิตกับการรักษาที่ดี รีไวล์หวังมาตลอดว่าเขาจะหลุดพ้นตรงนี้ ซึ่งตลกร้ายที่การหลุดพ้นนี้ไม่ใช่การต้องการเหนือกว่าใคร แต่แค่ต้องการให้เขากับเพื่อนพ้องเป็น ‘คนเท่ากัน’ กับคนด้านบนเท่านั้นเอง การที่เขาเกิดที่นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากอยู่และตายที่นี่ หรืออยากเป็นคนที่นี่ นิสัยเนี้ยบและเป็นคนสะอาดเจ้าระเบียบของเขาบอกได้ว่าบริบทและสภาพและสถานะที่มาพร้อมกับการกำเนิดไม่อาจตีกรอบชายคนนี้ได้ รีไวล์ดูจะมีปีกแห่งอิสรภาพเหมือนสัญลักษณ์หลังผ้าคลุมหน่วยสำรวจตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าหน่วยสำรวจด้วยซ้ำ
หลังจากที่หน่วยสารวัตรทหาร (ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนด๋อยและปฏิบัติงานจริงไม่ค่อยจะได้เรื่องซักเท่าไหร่ ประมาณว่าทหารไม้ประดับกินเงินเดือนและรับใช้ชนชั้นสูงเท่านั้น) ตามจับกลุ่มรีไวล์ครั้งแล้วครั้งเล่าไม่เป็นผล โชคชะตาก็ได้นำพาให้เขามาเจอกับบุคคลสำคัญที่จะเปลี่ยนชีวิตรีไวล์ไปตลอดกาล ชายที่ชื่อว่า ‘เออร์วิน สมิธ’ ที่ตอนนั้นยังเป็นหัวหน้าหน่วยสำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของคีธ ชาดีส (Keith Shadis) แต่ฉายแววผู้นำมาแต่ไกล
ภายหลังจากปะทะกันและรีไวล์ต้องหยุดเพราะเพื่อนพ้องโดนจับได้ เออร์วินชวนรีไวล์เข้าหน่วยสำรวจเพราะเห็นแววว่าไอหมอนี่มันไม่ธรรมดาจากการใช้เครื่องสามมิติกับใบมัดได้เก่งขนาดนั้น มีพรสวรรค์ รีไวล์ตอบตกลงอย่างง่ายเพราะเข้าได้รับภารกิจที่จะช่วยให้ตัวเองกับเพื่อนๆ ได้เป็นพลเมืองโลกด้านบน ภารกิจนั้นคือ ‘ฆ่าเออร์วิน’ เพราะเออร์วินไปขัดผลประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง รีไวล์ที่ไม่สนหน้าสิ่วหน้าขวานตอนนั้นแต่นอนย่อมตอบตกลงรับงาน เขาฆ่าเพื่อรอดอยู่แล้ว ฆ่าอีกซักคนจะเป็นอะไรไป
ยิ่งในช่วงเวลานั้นรีไวล์ไม่ชอบหน้าเออร์วินอยู่แล้วด้วย เขาไม่ชอบอภิสิทธิ์ชน ไม่ชอบพวกหน่วยต่างๆ ของโลกด้านบนที่เข้ามาป้วนเปี้ยน แถมยังต้องถูกบังคับให้คุกเข่าและถูกกดหน้าจุ่มน้ำโคลนต่อหน้าคนคนนี้ ภารกิจนี้จึงเป็นการยิงหินทีเดียวได้นกสองตัว
ต่อมารีไวล์ต้องการที่จะสังหารเออร์วินระหว่างทำภารกิจหน่วยสำรวจ แต่เพื่อนพ้องถูกไททันฆ่าเกลี้ยงอย่างน่าหดหู่ใน (ด้วยความที่ฉากโจ่งแจ้งกว่าอนิเมะภาคหลักมาก) เขาสังหารไททันลงด้วยความโกรธเกรี้ยว จากนั้นเออร์วินเผยว่าเขารู้มาตลอดถึงได้ระวังตัว กลายเป็นว่าทั้งหมดสูญเปล่า เพื่อนต้องมาตายฟรี ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำภารกิจอีกต่อไปในเมื่อไม่เหลือคนให้ใช้ชีวิตด้วย
“อย่าได้เสียใจเป็นอันขาด”
เออร์วินรับใบมัดด้วยมือเปล่าและด่ารีไวล์ว่าน่าสมเพช เขารู้และเข้าใจดีว่ารีไวล์ทำในสิ่งที่ต้องทำ แต่คำพูดนี้ไม่ใช่คำพูดเพื่อปลอบให้รีไวล์อย่าเสียใจเรื่องเพื่อน แต่อย่าได้เสียใจที่ตัดสินใจเช่นนี้เพราะทุกการตัดสินใจจะส่งให้เกิดผลลัพธ์ที่ตามมา และผลลัพธ์หนึ่งส่งผลให้เกิดอีกผลลัพธ์ การเสียใจกับมัวแต่จมอยู่กับอดีตมีแต่จะฉุดรั้งอนาคตต่อจากนี้ เขาต้องการให้รีไวล์โฟกัสไปที่อนาคต และหาความหมายให้กับชีวิต เพราะอย่างน้องยรีไวล์ก็ยังสามารถใช้ชีวิตในส่วนที่เพื่อนไม่ได้ใช้ได้ และเขามีความสำคัญมากกว่าที่ตัวเองรู้
ด้วยความนับถือเออร์วินบวกกับการเห็นด้วยว่าจริงอย่างที่ว่า รีไวล์จึงตัดสินใจติดตามเออร์วินจนกว่าชีวิตจะหาใหม่ และเชื่อในทุกการตัดสินใจว่าชายคนนี้จะนำพามนุษยชาติไปสู่การปลดแอกและเอาชนะไททันได้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น นี่เป็นครั้งเดียวที่รีไวล์พ่ายแพ้ เขาไม่ได้แพ้การต่อสู้ แต่เขาหมดท่าเพราะแพ้ใจให้กับเออร์วิน (พูดซะโรแมนติก) อย่างที่เคยพูดไปในบทความเกี่ยวกับตระกูลแอคเคอร์แมน แล้วว่าคนตระกูลแอคเคอร์แมนแต่ละคนจะต้องมีโฮสต์หรืออะไรซักอย่างที่จะฝากชีวิตในแบบ ‘ฝากตัวรับใช้นาย’ และโฮสต์ของรีไวล์คือเออร์วิน กับมนุษยชาติ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรีไวล์ไม่เคยแผ่วและสู้แบบใส่เต็มแม็กซ์ ไม่ปราณีศัตรูเป็นอันขาด
ภายใต้สีหน้าที่เย็นชาของชายผู้ไม่เสียใจ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาภายใต้สีหน้าเรียบนิ่ง และหน้ากับยูนิฟอร์มที่เปื้อนเลือดเพื่อนพ้องและศัตรูอย่างดูไม่รู้สึกรู้สาราวกับว่านี่เป็นเรื่องปกติ เลือดไม่ต่างอะไรไปจากการกินน้ำแดงหกแล้วเลอะ รวมไปถึงการเตะหน้าเพื่อช่วยเอเรนระหว่างการตัดสินประหารชีวิต รีไวล์ไม่ใช่ว่าไม่รู้สึกอะไร เขาเป็นเครื่องจักรสังหารที่มีความรู้สึกนึกคิด แต่วิธีการและการแสดงออกของเขาก็อีกเรื่อง รีไวล์เผชิญหน้ากับความสูญเสียนับไม่ถ้วน ตั้งแต่เพื่อนสองคนใน No Regrets, การสูญเสียที่เราไม่ได้เห็นจากการส่งลูกน้องกับเพื่อนพ้องไปตายด้วยน้ำมือไททัน, เปลี่ยนสมาชิกหน่วยคนแล้วคนเล่าจนถึงตายทั้งหน่วย, การสูญเสียตอนสู้กับไททันหญิงหรือแอนนี่ (Annie), สูญเสียเออร์วิน และล่าสุดที่ต้องสังหารลูกน้องตัวเองในร่างไททันหมดทุกคนหลังจากที่ดื่มไวน์ไขสันหลังของซีค (Zeke) ไป
หลักการ “ไม่เสียใจ” ดูจะเป็น motto หรือคติประจำใจของรีไวล์ไปแล้วหลังจากสิ่งที่เขาได้เจอมากับคำพูดของเออร์วินที่จำได้ฝังใจ มันย้ำเตือนว่าหากเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อและจะทำสิ่งนี้ จะให้อะไรมาบั่นทอนไม่ได้ อีกอย่างคือสำหรับชายคนนี้ที่เสียใจและยังมีความรู้สึก มันเกินกว่าที่จะให้ค่าคำว่า ‘เสียใจ’ แล้ว ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือมีฉากนึงที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องการจะไปเก็บศพเพื่อนรีไวล์บอกว่าต้องกลับไปให้เร็วที่สุด เขาไม่ได้ไร้หัวจิตหัวใจแต่เขาเก็บของบางอย่างที่เป็นตัวแทนของเพื่อนทหารนายนั้นไว้ให้ แต่ทหารนายนั้นไม่เชื่อ ผลคือศพลูกน้องรีไวล์ต้องตกไประหว่างทาง รีไวล์ไม่บ่นไม่ด่า เขาเข้าใจว่าทหารนายนั้นได้รู้แล้วว่าการขัดขืนคำสั่งของผู้มีวิสัยทัศน์และรู้ว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร มีแต่จะทำให้เรื่องแย่ลงและแย่สุดคืออาจมีคนตายได้ สิ่งสำคัญคือต้องมูฟออน การสูญเสียเกิดขึ้นได้แต่ต้องสู้ต่อไปเพื่ออนาคตตัวเอง คนที่อยู่ข้างหลัง กับอนาคตมนุษยชาติ และในการสู้รบ ตราบใดที่ยังมีคนจำชื่อของผู้จากไปแล้วนำไปบอกต่อเรื่องราวเกี่ยวกับคนผู้นั้น นั่นคือเขายังมีชีวิตอยู่ แม้รีไวล์จะดูตัวคนเดียวหรือทรงเหงาๆ ก็ตาม การที่เขามายืนอยู่ตรงนี้ได้ส่วนนึงก็เพราะลูกน้องและเพื่อนพ้องเหล่านั้น และรีไวล์จำชื่อพวกเขาได้ทุกคน
การตายที่สะเทือนใจและการสูญเสียครั้งสำคัญที่สุดของรีไวล์ที่ไม่พูดถึงแบบลงรายละเอียดไม่ได้คือการตายของเออร์วิน สมิธ
รีไวล์ติดตามและเชื่อในตัวเออร์วินเพราะความเสียสละหรือทำเพื่อเป้าหมายของผู้อื่นของเออร์วิน แต่ในขณะเดียวกันครึ่งนึงเออร์วินก็ต้องการจะไถ่บาปที่เคยทำให้พ่อของเขาต้องตายกับต้องการจะรู้ให้ได้ว่าใต้ดินนั้นมีความลับอะไรอยู่ มันเป็นเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ของเออร์วินที่เขาไล่ล่ามาตลอดจนถึงการต่อสู้ตัดสินชะตากรรมที่เขตชิกันชินะกับไททันลิง เออร์วินต้องเลือกทำสิ่งที่ต้องทำ และทำอะไรก็ตามที่คิดว่าจะเอาชนะศัตรูได้ไม่ว่าจะต้องเสียอะไรไปอย่างที่เขาเคยทำมาตลอด
และแม้กระทั่งสิ่งนั้นที่ต้องเสียสละคือตัวเอง เออร์วินก็หาได้สนไม่ เขามองทุกคนเป็นหมากที่จะเอาชนะศัตรูบนกระดาน และเขาใช้ตัวเองเดินหมากพร้อมๆ กับทหารใหม่เพื่อให้ตัวหมากตัวสำคัญหนึ่งตัวสุดท้ายกำจัดฝั่งตรงข้ามไม่ให้เหลือ ซึ่งมันเป็นการเดินรูปแบบเดียวที่จะเอาชนะได้ เมื่อเข้าใจดังนั้นรีไวล์จึงพูดประโยคที่เออร์วินลึกๆ ต้องการให้เขาพูด เพื่อคอนเฟิร์มว่าเขาเห็นกันว่าเราจะทำสิ่งนี้ นั่นก็คือประโยคเด็ด
“ทิ้งความฝันแล้วไปตายซะ ส่วนไททันลิงฉันจัดการเอง”
รีไวล์เข้าใจดีว่าเออร์วินทั้งมีความฝันและความต้องการที่จะเอาชนะ แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะเพราะโมทีฟหรือเพราะส่วนรวม เออร์วินต้องการให้มนุษยชาติชนะไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไร นั่นคือความหมายของการเป็นเออร์วิน และรีไวล์นับถือเขาตรงนี้ แม้มีทางเลือกที่จะฉีดเซรุ่มให้เออร์วินฟื้นและกินเบอร์โทลท์กลายเป็นไททันมหึมาได้ แต่เขาไม่ทำ เพราะรีไวล์รู้ว่าการแบกรับมันเป็นสิ่งที่เหนื่อยหนัก เออร์วินทำมาตลอดแล้ว ถึงเวลาที่เขาควรพัก รีไวล์จึงเลือกฉีดให้กับอาร์มิน (Armin) แทน ทั้งด้วยเหตุผลที่ว่าเขาอยากให้เออร์วินจากไปอย่างสงบเพราะเขาทำมามากพอ กับอาร์มินคือคนที่เออร์วินไว้ใจให้มาสานต่อ ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เขาใจสลายก็ตามต้องทิ้งที่มีโอกาสอยู่ตรงหน้าที่สหายที่เขาเคารพรักและนับถือที่สุดจะฟื้นขึ้นมาได้ และถึงแม้ว่าการตายของเออร์วินจะไม่มีใครเสียใจมากไปกว่าเขาแล้วก็ตาม
การเป็นผู้นำสไตล์ ไม่ใช่ที่ 1 แต่ไม่อยู่หลังที่ 3
รีไวล์ แอคเคอร์แมนไม่ใช่ชายมักใหญ่ใฝ่สูง เขาไม่แคร์เรื่องของตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์อะไร ซึ่งการจะบอกว่ารีไวล์มีความเป็นผู้นำสูงนั้นก็เป็นเรื่องถูกเพียงแต่อาจไม่ใช่ถูกทั้งหมดซะทีเดียว เมื่อมองเนื้อเรื่องที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสไตล์การเป็นผู้นำของรีไวล์คือเป็นทั้ง ‘ผู้นำและผู้ตาม’ ในคนเดียวกัน เขาตามเออร์วิน และเป็นหัวหน้าหน่วยรีไวล์ที่สั่งการลูกน้องอีกที ซึ่งจริงๆ ตัวเขาเองก็ดูจะไม่ได้ชอบการสั่งการหรือต้องมารับผิดชอบและรู้สึกผิดกับการเสียชีวิตของใครที่มาจากการตัดสินใจของตัวเองซักเท่าไหร่ เออร์วินไว้ใจรีไวล์มากก็จริงแต่ถึงเวลามอบตำแหน่งผู้บัญชาการเขาเลือกที่จะมอบตำแหน่งนี้ให้กับฮันจิ (Hange) มากกว่า ที่เป็นเช่นนั้นวิเคราะห์ได้ว่าเพราะฮันจิอาจดูมีคุณสมบัติผู้นำกว่า และหากให้เดาอาจมีฉากที่เราไม่ได้เห็นที่เออร์วินกับรีไวล์คุยกันเรื่องผู้บัญชาการต่อจากเขาเพราะรีไวล์สนิทกับเขาที่สุด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นแน่นอนว่ารีไวล์ต้องขอบายเพราะเขาไม่รู้สึกว่าเขาอยากแบกรับอะไรระดับนั้นหรืออาจทำมันไม่ได้ดีเท่ากับที่เออร์วินทำ
นั่นคือความหมายที่บอกว่ารีไวล์เป็นคนประเภท ‘ไม่ใช่ที่ 1 แต่ไม่อยู่หลังที่ 3’ คนประเภทนี้มีอยู่จริงเช่นผู้เขียนเป็นต้น เป็นคนนึงที่สามารถคุมคนอื่นได้ เป็นหัวหน้าคนได้ สั่งการได้ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าคอมฟอร์ตโซนของตัวเองคือการที่ถ้าจะอยู่ที่สูง ก็ขอสูงประมาณหนึ่งแต่ไม่สูงที่สุดเพราะมันหนาวเกินไป ขออยู่ใต้ใครซักคนอีกทีเพื่อความรู้สึกปลอดภัย และไม่ต้องการแบกรับภาระการตัดสินใจและความล้มเหลวหากผิดพลาดขนาดนั้น นอกจากที่พูดไปแล้ว เขายังเป็นผู้นำที่เปิดกว้างและไม่ได้เผด็จการ รีไวล์รับฟังลูกน้องและให้เกียรติคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องมากที่สุดตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ เช่น ฉากที่ไททันหญิงตามล่า รีไวล์ยอมรับตรงๆ ว่าเขาเองก็ไม่รู้ว่าตัดสินใจแบบไหนจะดีที่สุด ฉะนั้นเอเรนเป็นพระเอก (อันนี้รีไวล์ไม่ได้พูดนะ) เอเรนต้องตัดสินใจเองและยอมรับผลที่ตามมา
หลังจากที่เออร์วินเสียชีวิต รีไวล์ แอคเคอร์แมน ทั้งเคว้งและไม่เคว้งในเวลาเดียวกัน เขาเคว้งที่สูญเสียเออร์วิน แต่คติ ‘ไม่เสียใจ’ ที่เออร์วินมอบ กับชัยชนะและสิ่งที่เออร์วินสร้างและทำมาทั้งหมดเขาสานต่อมันและใช้สิ่งนั้นเป็นโฮสต์ โดยเฉพาะใช้มนุษยชาติเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ มีสองสามฉากที่รีไวล์แอบยิ้มและแอบฟังเด็กๆ คุยกัน เขาคงนึกถึงตัวเอง นักถึงสมัยที่อยู่กับอิซาเบลและเฟอร์ลาน และรู้สึกดีใจที่เด็กพวกนี้ที่เติบโตภายใต้ปีกของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเหมือนครอบครัว
หน่วยรีไวล์กับหน่วยฝึกรุ่น 104 ดูจะใกล้เคียงกับคำว่า ‘ครอบครัวที่ยังมีอยู่’ ที่สุดเท่าที่รีไวล์จะมีในตอนนี้แล้ว เขาถึงได้บอกกับทุกคนตอนบุกไปสู้ที่ลิเบอริโอประเทศมาเลว่า ‘อย่าตายเด็ดขาด ต้องรอด นี่คือคำสั่งที่ออกมาจากใจคนที่ไม่อยากสูญเสียอีก’
เมื่อความจริงถูกเปิดเผยว่ามีสิ่งที่ใหญ่กว่าและศัตรูอยู่ภายนอกเกาะที่พวกเขาเคยเข้าใจมาตลอดว่าคือโลกทั้งใบ แม้รีไวล์จะถูกลดบทบาทและภาระการตัดสินใจลงจนจางไปเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย (ล่าสุดคือโดนซีคระเบิดใส่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการโดนเนิร์ฟ) เขาก็เป็นกำลังสำคัญให้กับกองกำลังเกาะสวรรค์เช่นเคย และนอกจากนี้รีไวล์ยังเป็นพยานคนสำคัญที่ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ตอนที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจไททันแล้วต้องพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงช่วงเข้าใจ และใช้งานพลังไททันทำสงครามได้แล้ว
ถ้าจะมีใครซักคนเสียใจ รีไวล์จึงเป็นคนที่เสียใจมากที่รู้ว่าหลังจากสิ่งที่ทำมาทั้งหมด ที่เขากับเออร์วินสละชีวิตลูกน้องและพ้องเพื่อนปกป้องเอเรนไม่รู้ตั้งกี่ครั้ง ผ่านอะไรด้วยกันมาตั้งมากตั้งมาย บัดนี้เขาต้องอยู่กึ่งกลางอย่างลำบากใจระหว่างการหยุดเอเรนกับการที่ต้องเห็นกลุ่มคนที่ช่วยเหลือเอเรนและอยู่ข้างเดียวกันมาตลอดอย่าง ผบ.พิกซิส (Pyxys) และแซคคารี่ (Zachary) เป็นศัตรูกันเอง แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ล้มเลิกความพยายามที่จะฆ่าไททันลิงราวกับเป็นคู่รักคู่แค้น
ขอปิดท้ายด้วยความหมายของคำว่า ‘ รีไวล์ (Levi)’ ที่ในภาษาฮิบรูแปลว่า ‘เข้าร่วม (to join/joining)’ หรือ ‘ผนึกกำลัง (united/in harmony)’
แม้รีไวล์จะดูเหมือนเป็นคนที่อยู่ลำพังและโลกส่วนตัวสูง ไม่มีใคร แต่ชีวิตของเขากับสายเลือดแอคเคอร์แมนทำให้เขาต้องเลือกที่จะเข้าร่วม ถูกรายล้อมไปด้วยผู้คน และถูกอะไรบางอย่างพรากคนเหล่านั้นจนกลายเป็นการผ่านมาแล้วก็ผ่านไปครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงแม้คติของเขาคือไม่มองอดีตและมองไปแต่ข้างหน้า แต่หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพรีไวล์ไม่ต่างอะไรไปกับชายที่ยืนหยัด ยังคงยืนอยู่แม้ใครจะล้มหายตายจากไป เป็นตัวละครอึดตายยาก เป็นผู้รอดชีวิตคนสำคัญที่สังเกตและมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ปริปากเท่าไหร่นัก
ฉะนั้นถ้าจะพูดถึงตัวละครซักตัวที่สามารถเล่าเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นในมหากาพย์ไททันตั้งแต่ยุคแห่งความไม่รู้ สู่ยุคความรู้แจ้งและบทสรุปของสงคราม (หากเขารอดไปถึงตอนท้ายนะ) ตัวละครผู้สังเกตการณ์ที่ดูจะอยู่ตรงกลางสมรภูมิและเหมาะกับการเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวนี้ที่สุดคนนึงคือ รีไวล์ แอคเคอร์แมน รีไวล์ แอคเคอร์แมน